ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การดำเนินชีวิตที่เคยปกติต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในชุมชนแออัดคลองเตยที่มีประชากรอยู่กันหนาแน่นไม่ต่ำกว่า
1 แสนคน ในจำนวนนี้หลายครอบครัวต้องตกงาน ขาดรายได้ และยังต้องแบกรับภาระค่าเช่าบ้าน
ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และอื่นๆ อีกมากมาย
เจ้าหน้าที่มูลนิธิดวงประทีปและอาสาสมัครลงสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของชาวบ้าน
จาก 45 ชุมชนในเขตคลองเตยพบว่า หนึ่งในความเดือดร้อนคือ การขาดแคลนนม สำหรับเด็กๆ ในโรงเรียน ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กๆ
จะได้รับนมกล่องจากโรงเรียน แต่เนื่องจากโรงเรียนปิดชั่วคราวในช่วงโควิด-19
ระบาด เด็กๆ ต้องอยู่บ้านไม่ได้เรียน ไม่ได้รับนมและอาหารกลางวัน
นอกจากนั้นยังพบว่า
เด็กอ่อน(ทารก)ส่วนใหญ่มีพ่อแม่ที่มีอายุช่วงวัยทีนขาดความรู้ในการดูแลลูก บางคนเลื้ยงลูกเอง
บางคนเอาลูกไปให้ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ยากจนเลี้ยงดู ดังนั้นการเลี้ยงดูเด็กอ่อนจึงเป็นไปตามยถากรรม
เด็กบางคนดื่มนมข้นหวานที่ชงกับน้ำร้อน เพราะมีเงินไม่พอที่จะซื้อนมผงที่เหมาะกับวัยของเด็ก
ทำไมไม่ให้ลูกกินนมตัวเอง? คำตอบส่วนใหญ่คือ ความเกียจคร้าน กลัวไม่สวย ไม่มีน้ำนมพอให้ลูกกิน
ขาดความรู้เรื่องการดูแลเด็ก ฯลฯ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลกระทบในระยะยาวคือ ตัวเด็ก พัฒนาการทางร่างกายรวมถึงสมอง(สติปัญญา)
จะด้อยกว่าเด็กกินนมแม่ ทารกที่ขาดนมแม่จะขาดสารอาหารและภูมิคุ้มกันโรค ทำให้เติบโตไม่เต็มที่
สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บป่วยง่าย เมื่อเติบใหญ่เด็กนั้นก็อาจจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ไร้คุณภาพกลับมาเป็นภาระของสังคมต่อไปได้
ในช่วง 9 เดือนระหว่างตั้งครรภ์ พ่อแม่วัยทีนต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมที่จะดูแลชีวิตใหม่ที่กำลังจะเกิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ เช่น
การลงเยี่ยมบ้าน ส่งเสริมให้ความรู้ในเรื่องการเตรียมสถานที่และโภชนาการของแม่และเด็ก ทัศนะคติและการส่งเสริมให้ลูกดื่มนมแม่ ภาวะทางอารมณ์ที่มีผลต่อการเลี้ยงดูลูกให้มีคุณภาพในทุกๆ
ด้าน
โครงการดีๆ
อย่าง โรงเรียนพ่อแม่ ที่มีวัตถุประสงค์ต่อผู้ที่จะเป็นพ่อแม่ให้มีทัศนคติในการเลี้ยงดูลูกให้มีคุณภาพ ควรส่งเสริมรณรงค์ให้ลูกกินนมแม่ให้มากขึ้น
ไม่เพียงความใกล้ชิดที่ลูกได้อยู่ในอ้อมกอดของแม่แล้ว ลูกยังมีสุขภาพดี และลดค่าใช้จ่าย
ภาพที่เราเห็นในช่วงโควิด-19
ระบาดคือ แม่วัยทีนที่มาขอนมผงจากมูลนิธิฯ มีจำนวนมาก ภาพเด็กที่ต้องดื่มนมข้นหวานแทนนมผงก็มีให้เห็น
และถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ทำงานเชิงรุก
อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเด็กๆ เหล่านี้จะมีสุขภาพกายใจและสมองที่ดีได้อย่างไร
 |